Netflix มีรายการอะไรให้ดูบ้าง ?
ใน Netflix มีทั้งหนัง และ TV Series จะมี US Series ให้คุณดูทั้งชีวิตก็ไม่หมด (จริงๆ นะ มันเยอะมาก) อาทิเช่น Lost, How I met your mother, Futurama, the Walking Dead และ อะไรที่มันดังๆ แต่ว่าบางเรื่องก็ไม่มีนะครับ ที่เป็น Series ของ HBO เช่น Game of Thrones หรือ The Pacific แต่แค่เดือนละ 240 บาทมันถูกมากครับ
ย้อนตำนาน Netflix
เมื่อพูดถึง “การเช่าวิดีโอ” เราทุกคนคงนึกถึงการเปิดร้านค้าในย่านชุมชนที่คนพลุกพล่าน ในร้านมีกล่องวิดีโอ (ซึ่งพัฒนามาเป็นกล่องวีซีดี ดีวีดี และบลูเรย์ ในยุคต่อๆ มา) วางเรียงกันเป็นจำนวนมากมาย ลูกค้าจะต้องเดินมาเลือกวิดีโอที่ร้านเพื่อกลับไปดูที่บ้าน และนำกลับมาคืนเพื่อเช่าวิดีโอเรื่องถัดไปในสหรัฐอเมริกา ร้านเช่าวิดีโอรายใหญ่คือ Blockbuster ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1985 และครองความยิ่งใหญ่ของโลกบันเทิงในบ้านมาตลอดทศวรรษ 90s
ส่วน Netflix ก่อตั้งในอีกสิบปีให้หลังคือปี 1997 และสร้างความแตกต่างจากการ “เช่าวิดีโอแนวใหม่” ผ่านไปรษณีย์!!
แนวคิดของ Netflix คือไม่มีหน้าร้านสำหรับเช่าวิดีโอ ลูกค้าต้องจ่ายค่าสมาชิกรายเดือนในราคาคงที่ และจะได้รับแคตาล็อกวิดีโอใหม่ส่งถึงบ้านทุกเดือน (ภายหลังพัฒนามาเป็นเลือกวิดีโอผ่านเว็บไซต์) และคูปองสำหรับเลือกวิดีโอที่ต้องการจะเช่า เมื่อเลือกแล้วก็ส่งคูปองกลับไปยัง Netflix ทางไปรษณีย์ (Netflix ออกค่าใช้จ่ายด้านไปรษณีย์ให้ทั้งหมด) จากนั้นอีกไม่นานก็จะได้วิดีโอกลับมาทางไปรษณีย์เช่นกัน
ลูกค้าสามารถเก็บวิดีโอไว้ที่บ้านนานเท่าไรก็ได้ ดูซ้ำกี่รอบก็ได้ แต่ลูกค้าจะสามารถเช่าวิดีโอได้จำนวนจำกัดเท่านั้น (เช่น 3 เรื่องสำหรับค่าสมาชิก 10 ดอลลาร์ต่อเดือน) และจะเช่าเรื่องใหม่ได้ต่อเมื่อส่งวิดีโอเรื่องที่ดูแล้วกลับคืนไปยัง ไปรษณีย์
รูปแบบธุรกิจลักษณะนี้แปลว่าลูกค้าที่ขยันดูและขยันส่งวิดีโอกลับจะได้ ประโยชน์จากการเสียค่าสมาชิกสูงสุด ในขณะที่ลูกค้าส่วนมากไม่ขยันเท่าที่ตัวเองคิดขณะสมัครสมาชิก ทำให้ Netflix โด่งดังและไปได้สวยในธุรกิจเช่าวิดีโอ ในเวลาสิบปีตั้งแต่เปิดบริษัท บริษัทให้เช่าวิดีโอไปถึง 1,000 ล้านครั้งในสหรัฐอเมริกา
Netflix ยังมีบริการเสริมเพิ่มมูลค่าอีกหลายอย่าง เช่น ระบบการแนะนำวิดีโอโดยพิจารณาจากประวัติการเช่าวิดีโอของลูกค้าในอดีต โดยเทียบกับลูกค้าคนอื่นที่ใกล้เคียงกัน ทำให้แนะนำวิดีโอที่ลูกค้ามีโอกาสจะถูกใจมากขึ้น เป็นผลให้ลูกค้าชื่นชอบในบริการของ Netflix มากขึ้นไปอีก
Netflix สู่ยุคดิจิทัล
ในปี 2011 เวลาผ่านมาอีกสิบปีให้หลัง Blockbuster ล้มละลาย ในขณะที่ Netflix กำลังผงาดขึ้นมาเป็นดาวจรัสแสงแห่งยุคความแตกต่างของ Blockbuster และ Netflix ไม่ใช่รูปแบบการเช่าวิดีโอที่ต่างกัน (เพราะการเช่าวิดีโอหรือดีวีดีเป็นแผ่นๆ หดตัวจากการปฏิวัติดิจิทัลเหมือนกัน) แต่เป็นความสามารถในการ “ปรับตัว” ต่อโลกสมัยใหม่ที่กำลังมาถึงต่างหาก
แม้จะสามารถคิดค้นรูปแบบการเช่าวิดีโออันแปลกใหม่ทันสมัยได้ แต่ Netflix กลับไม่หยุดนิ่งและพอใจแค่นั้น ในปี 2007 Netflix เปิดบริการเช่าหนังและดูผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก โดยคิดราคาสมาชิกรายเดือน 7.99 ดอลลาร์ดูได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
เมื่ออินเทอร์เน็ตแบบบรอดแบนด์เริ่มเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ การดาวน์โหลดภาพยนตร์ขนาดใหญ่ไม่ใช่เรื่องลำบากมากนัก Netflix ก็โดดเด่นขึ้นมาด้วยผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานง่าย บริการที่ดี และความสัมพันธ์ของ Netflix ต่อสตูดิโอภาพยนตร์รายใหญ่ ทำให้มีวิดีโอให้เช่าผ่านอินเทอร์เน็ตมาก และมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ทุกวันนี้ไม่ว่าผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ใดจะเปิดตัวในสหรัฐ อเมริกา ขอเพียงแค่มี “จอภาพ” ผลิตภัณฑ์แทบทุกชนิดก็จะต้องทำสัญญากับ Netflix เพื่อให้ดูภาพยนตร์ออนไลน์ได้ ไม่ว่าจะเป็น iPad ของแอปเปิล, Google TV ของกูเกิล, เครื่องเล่นเกม Wii, PS3 หรือ Xbox 360, ทีวีจากซัมซุงและแอลจี ต่างก็ต้องดู Netflix ได้กันทั้งหมด และนั่นหมายถึงรายได้ที่ไหลมาเทมาของ Netflix นั่นเอง
Netflix ฉลองยอดสมาชิก 20 ล้านรายไปเมื่อเดือนธันวาคม 2010 และในการแถลงผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2011 บริษัทก็ประกาศว่ามีสมาชิกเพิ่มเป็น 23.6 ล้านราย (เวลาเดียวกันของปีก่อนมีสมาชิกเพียง 14 ล้านราย) ตัวเลขนี้สำคัญมากเพราะทำให้ Netflix มีฐานสมาชิกรวมแซง “สื่อเก่า” เจ้าพ่อเคเบิลทีวีสหรัฐอย่าง Comcast ที่มียอดสมาชิก 22.8 ล้านรายแล้ว
ผลประกอบการของ Netflix ก็ถือว่าดีเยี่ยม ไตรมาสล่าสุด Netflix มีรายรับ 746 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 46% จากไตรมาสแรกของปี 2010 ส่วนในต่างประเทศ Netflix มีสมาชิก 800,000 ราย เพิ่มจากเดิมอีก 290,000 รายในไตรมาสเดียว
สื่อเก่ารวมพลังสู้ สื่อใหม่เริ่มแข่งเดือด
ในขณะที่ Netflix เติบโตอย่างต่อเนื่อง บริษัทผู้ให้เช่าวิดีโอเก่าแก่อย่าง Blockbuster กลับต้องล้มละลาย เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกดิจิทัลที่ผู้บริโภคเลิกเดินทางไปเช่า วิดีโอที่ร้าน หันมาบริโภคเนื้อหาผ่านอินเทอร์เน็ตแทนความน่าสนใจคือบริการทีวีดาวเทียมของสหรัฐ DiSH Network เข้ามาประมูลซื้อกิจการ Blockbuster ไปในราคาถูก เนื่องจาก Blockbuster ยังมีมูลค่าสินทรัพย์อยู่มาก โดยเฉพาะแบรนด์ Blockbuster ที่อยู่ในใจผู้บริโภคเมื่อคิดถึงความบันเทิงภายในบ้าน และมีข่าวออกมาว่า DiSH Network อาจเปิดบริการวิดีโอออนไลน์แบบเดียวกับ Netflix โดยใช้แบรนด์ Blockbuster เข้าสู้
ในอีกสมรภูมิ ถึงแม้ว่า Netflix จะผงาดขึ้นมาเป็นหมายเลขหนึ่งของบริการวิดีโอออนไลน์ แต่ก็ใช่ว่าจะไร้คู่แข่งไปเสียทีเดียว
- เจ้าพ่อไอทีอย่างแอปเปิลซึ่งประสบความสำเร็จในโลกของเพลงออนไลน์ ก็หันมามองตลาดภาพยนตร์และทีวีตาเป็นมัน ที่ผ่านมาแอปเปิลเคยให้ซื้อ-เช่าหนังผ่าน iTunes Store ของตัวเองบ้างแล้ว และเคยมีผลิตภัณฑ์อย่าง Apple TV มาลองตลาดอยู่บ้าง
- เจ้าพ่อค้าปลีกออนไลน์อย่าง Amazon ก็ไม่น้อยหน้า เปิดบริการ Amazon Video Online เพื่อต่อยอดบริการอีคอมเมิร์ซของตัวเองเช่นกัน (แทนที่จะขายแผ่นหนัง ก็เปลี่ยนมาขายไฟล์หนังแทน โดยใช้หน้าร้านเดิมของ Amazon)
- เจ้าพ่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างโซนี่ แม้จะมีบริการ Netflix บนเครื่องเล่นเกม PS3 ด้วย แต่โซนี่เองก็เป็นเจ้าของเนื้อหามากมาย (ทั้ง Sony Music และ Sony Picture) ล่าสุดเปิดบริการหนังเพลงออนไลน์ของตัวเองในชื่อ Qriocity แล้ว
- Hulu บริการรายการทีวีออนไลน์ที่ช่องสถานีในสหรัฐหลายแห่งลงขันกันสร้าง ก็ได้รับความนิยมอย่างสูงเช่นกัน ถึงแม้จะไม่ใช่คู่แข่งโดยตรงของ Netflix (Hulu เน้นรายการทีวีมากกว่าภาพยนตร์) แต่ก็มีรูปแบบธุรกิจที่คล้ายคลึงกันมาก และอาจต้องเผชิญหน้ากันได้ในอนาคตอันใกล้
- YouTube ของกูเกิล ถึงแม้จะเน้นวิดีโอที่ผู้ชมเป็นผู้ผลิตเอง แต่กูเกิลก็พยายามซื้อสิทธิ์ของเนื้อหาจากมืออาชีพ โดยเฉพาะสตูดิโอภาพยนตร์ต่างๆ มาฉายบน YouTube อยู่ตลอด และกูเกิลยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ Google TV เพื่อตอบสนองแผนการนี้ด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น